วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีอวกาศ

การออกไปนอกโลกและความหมายของอวกาศ จรวด ดาวเทียม ยานอวกาศ สถานีอวกาศ

อวกาศ คือที่ว่างนอกโลก นอกดวงดาว ดังนั้นจึงมีอวกาศระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ระหว่างดาวฤกษ์และระหว่างเมืองของดาวฤกษ์

จรวด เป็นเครื่องยนต์พลังสูงที่สามารถเพิ่มความเร็วจนสามารถส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศออกไปโคจร รอบโลก ได้ ถ้าความเร็วของจรวดไม่สูงมากพอหัวจรวดจะตกกลับมายังผิวโลกคล้าย ๆ การเคลื่อนที่ของ ลูกกระสุนปืน

ดาวเทียม หมายถึงวัตถุที่มนุษย์ส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก แปลมาจากคำว่า Satellite ซึ่งปกติแปลว่าดาวบริวาร ดาวเทียมดวงแรกที่ขึ้นไปโคจรรอบโลกคือสปุตนิค 1 ซึ่งเป็นดาวเทียมของประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซีย ส่งขึ้นไปเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 และดาวเทียมดวงแรกของสหรัฐอเมริกาคือเอ็กพลอเรอร์ 1 ซึ่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2501 ปัจจุบันมีดาวเทียมหลายประเภทและทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน เช่น ดาวเทียมที่ ใช้ประโยชน์ ในการติดต่อสื่อสารเรียกว่า ดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียมที่ใช้สำรวจทรัพยากรโลกเรียกว่า ดาวเทียมสำรวจพิภพ ดาวเทียมที่ถ่ายภาพและส่งข้อมูลเกี่ยวกับเมฆ ตลอดลมฟ้าอากาศ เรียกว่า ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา นอกจากนี้ยังมี ดาวเทียมดาราศาสตร์ ที่ใช้สำรวจศึกษาดวงดาวอีกมากมาย

ยานอวกาศ หมายถึงยานที่ออกไปนอกโลก โดยมีมนุษย์ขึ้นไปด้วยพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ สำหรับการสำรวจหรือไม่มีมนุษย์อวกาศขึ้นไป แต่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น จึงอาจแยกยานอวกาศออกเป็น 2 พวกคือ ยานอวกาศที่มีมนุษย์ขับคุม และยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์ขับคุม

ยานอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่มีมนุษย์อวกาศขึ้นไปด้วยได้แก่ ยานอวกาศเมอร์คิวรี ส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปครั้งละ 1 คน ยานอวกาศเจมินีส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปครั้งละ 2 คน ยานอวกาศอะพอลโลส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปคราวละ 3 คน ยานอวกาศอะพอลโล 11 เป็นยานอวกาศที่นำมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ยานขนส่งอวกาศสามารถนำมนุษย์อวกาศหลายคนและสัมภาระต่าง ๆ รวมทั้งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ แล้วนำนักบินอวกาศกลับสู่พื้นโลกได้คล้ายเครื่องร่อน

ยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์อวกาศขับคุมได้แก่ยานอวกาศที่ส่งไปสำรวจดาวดวงอื่น เช่น ยานเซอร์เวเยอร์ ซึ่งไปลงดวงจันทร์ ยานไวกิงไปลงดาวอังคาร ยานกาลิเลโอไปสำรวจดาวพฤหัสบดี ยานแมกเจลแลนสำรวจดาวศุกร์ ฯลฯ

สถานีอวกาศ หมายถึงสถานีหรือสิ่งก่อสร้างซึ่งเคลื่อนรอบโลก เช่น สถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย สถานีอวกาศฟรีดอมของสหรัฐอเมริกา โดยความร่วมมือขององค์การอวกาศยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดาและรัสเซีย

การออกไปนอกโลก ความเร็วต่ำสุดที่จะพาดาวเทียมหรือยานอวกาศออกไปนอกโลกได้ต้องไม่ต่ำกว่า 7.91 กิโลเมตรต่อวินาที หรือ 28,476 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าออกไปเร็วมากกว่านี้ยานจะออกไปไกลจากผิวโลกมากขึ้น เช่น ถ้าไปเร็วถึง 38,880 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะไปอยู่สูงถึง 35,880 กิโลเมตร และเคลื่อนรอบโลกรอบละ 24 ชั่วโมง เร็วเท่ากับการหมุนรอบตัวเองของโลก ดาวเทียมที่อยู่ในวงจรเช่นนี้จะอยู่ค้างฟ้า ณ ที่เดิมตลอด 24 ชั่วโมง

ดาวเทียมสื่อสาร

ดาวเทียมสื่อสารเป็นดาวเทียมที่ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารภายในและระหว่างประเทศ โดยดาวเทียมของประเทศใดประเทศหนึ่ง มักอยู่สูงในระดับประมาณ 36,000 กิโลเมตรเหนือประเทศนั้น ๆ ดาวเทียมสื่อสารจึงเป็นดาวเทียมค้างฟ้า ที่อยู่คงที่บนฟ้าของประเทศใดประเทศหนึ่งตลอดเวลา นับว่าสะดวกต่อการรับสัญญาณจากดาวเทียมเป็นอย่างยิ่ง

ปัจจุบันมีดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศของบริษัทอินเทลแซท ซึ่งส่งดาวเทียมอิสเทลแซทขึ้นไปอยู่เหนือมหาสมุทรอินเดียดวงหนึ่ง เหนือมหาสมุทรแปซิฟิคดวงหนึ่งและเหนือมหาสมุทรแอตแลนติคอีกดวงหนึ่ง ทำให้สามารถสื่อสารติดต่อระหว่างประเทศได้ทั่วโลกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ดาวเทียมสำรวจพิภพ สถานีรับสัญญาณจากดาวเทียม

ดาวเทียมสำรวจพิภพเป็นดาวเทียมที่เคลื่อนรอบโลกอยู่ในระดับต่ำประมาณ 500 กิโลเมตร และมีความสามารถในการแยกภาพสูง ดาวเทียมสำรวจพิภพ สำรวจทรัพยากรของโลก เช่น ป่าไม้ ทรัพยากรธรณี ทรัพยากรในทะเล และเนื่องจากเป็นดาวเทียมที่อยู่ในระดับต่ำ จึงไม่ใช่ดาวเทียมค้างฟ้า แต่จะเปลี่ยนตำแหน่งโดยเขยื้อนไปทางทิศตะวันตกของเส้นทางเดิม และกลับมาผ่านเส้นทางเดิมในเวลาหลายวัน เช่น ดาวเทียม อีอาร์เอส ของญี่ปุ่น

สัญญาณจากดาวเทียมขณะผ่านประเทศไทยเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยโดยตรง ดังนั้นเราจึงมีสถานีรับสัญญาณจากดาวเทียมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม

สถานีรับสัญญาณจากดาวเทียมตั้งอยู่ที่ ถนนฉลองกรุง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โทร. 3269151-2

หลายประเทศมีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศของตนเอง เช่น

ประเทศ


ชื่อดาวเทียมสื่อสาร

ไทย

อินโดนีเซีย

ฮ่องกง

แคนาดา

ออสเตรเลีย

สหรัฐอเมริกา

ญี่ปุ่น

ฝรั่งเศส


ไทยคม

ปาลาปา

เอเซียแซท

แอนิค

ออสแซท

เวสตาร์

ซากุระ

ยูริ

ดาวเทียมไทยคมเป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทยซึ่งออกแบบโดยบริษัทฮิวจ์แอร์คราฟท์ สหรัฐอเมริกา ส่งขึ้นสู่อวกาศโดยอาศัยจรวดอารีอานขององค์การอวกาศยุโรปที่เฟรนกิอานา ดาวเทียมไทยคมจึงขึ้นไปอยู่เหนือละจิจูด 7องศาเหนือและลองจิจูด 78.5 องศาตะวันออก

ประโยชน์ของดาวเทียมไทยคมคือช่วยการสื่อสารภายในประเทศในเรื่องโทรศัพท์ การถ่ายทอดโทรทัศน์ โทรสาร โทรพิมพ์ โดยไม่ต้องเช่าดาวเทียมปาลาปาของอินโดนีเซีย สถานีภาคพื้นดินส่งสัญญาณขึ้นสู่ดาวเทียมอยู่ที่ ถนนรัตนาธิเบศร์ อ.เมือง จ.นนทบุรี